fbpx

เรื่องควรรู้ก่อนสร้างรั้ว ตอนที่ 2

เรื่อง รั้วบ้าน กับเพื่อนบ้านข้างเคียง น่าจะเป็นปัญหา ที่หลายๆ คนอาจจะเคยปวดหัวกันมาบ้าง ยิ่งถ้ามีเรื่องกันถึงขั้นต้องฟ้อง อาจจะเสียเวลากันไปอีกเป็นปีเลยทีเดียว

กฎหมายสร้างรั้วบ้าน ควบคุมอาคาร
www.fenzerpro.com

“รั้วบ้าน” อาจไม่ใช่ส่วนหลักของบ้านที่เรานึกถึง แต่ในความเป็นจริงแล้ว รั้วบ้านกลับมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนประกอบอื่นๆ ของตัวบ้าน เนื่องจากโดยหน้าที่แล้ว รั้วบ้าน ช่วยป้องกันอันตราย และยังเป็นเหมือนด่านแรก ที่คนมองเห็นจากภายนอก หากแต่ก็มีปัญหาเรื่องบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเรื่องของ ” รั้ว ” ซึ่งบางทีเลยเถิด จนกลายเป็นปัญหา ระหว่างเจ้าของบ้าน ดังนั้น หลังจากที่เราแนะนำ เรื่องควรรู้ก่อนสร้างรั้ว ตอนที่ 1 ไปแล้วนั้น เราจึงมีคำแนะนำ เรื่องควรรู้ก่อนสร้างรั้ว ตอนที่ 2 เพื่อที่การสร้างรั้ว จะไม่สร้างปัญหา ให้กับคุณมาฝากค่ะ

สร้างรั้วอย่างไร ให้ไม่ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

เรื่อง รั้วบ้าน กับเพื่อนบ้านข้างเคียง น่าจะเป็นปัญหาที่หลายๆ คนอาจจะเคยปวดหัวกันมาบ้าง ยิ่งถ้ามีเรื่องกันถึงขั้นต้องฟ้อง อะไรกันนี่ อาจจะเสียเวลากันไปอีกเป็นปีเลยทีเดียว เรามารู้เรื่องเกี่ยวกฎหมายรั้วบ้านให้มากขึ้น ให้คุณกับเพื่อนบ้านของคุณเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไปนานๆนะคะ

รั้วบ้าน ใครเป็นเจ้าของกันแน่?

ถ้าเป็นรั้วบ้านของบ้านจัดสรร จะมีระบุไว้ว่า รั้วบ้าน ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ระหว่างบ้านข้างเคียง หรือรั้วข้างบ้าน รั้วจะถูกวางไว้กึ่งกลางระหว่างเส้นแบ่งที่ดิน ส่วนถ้าเป็นรั้วบ้าน ที่ไม่ใช่บ้านจัดสรรแล้ว เราจะเข้าไปอยู่ใหม่ อาจจะต้องเช็คจากหมุดที่ดิน ว่ารั้วนั้นอยู่กึ่งกลางที่ดินหรือไม่ ถ้ารั้วอยู่กึ่งกลางที่ดิน ก็จะถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ถ้ารั้วนั้นอยู่ในเขตที่ดินของบ้านข้างเคียงทั้งหมด เราต้องสร้างรั้วขึ้นมาใหม่ ในที่ดินของเราเท่านั้น จะไปใช้รั้วบ้าน ร่วมกับบ้านข้างเคียงไม่ได้ เพราะจะถือว่าเราไปใช้พื้นที่ ล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของบ้านข้างเคียง

และจากการที่รั้วบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ทั้งสองบ้านต้องช่วยกันสร้าง ดูแล และออกค่าใช้จ่าย หากมีการซ่อมแซมรั้วคนละครึ่ง ทั้งนี้หากเราเข้าไปอยู่อาศัยใหม่ และรั้วเดิมที่อยู่กึ่งกลางที่ดิน ถูกสร้างโดยบ้านข้างเคียงแล้ว เราอาจจะแสดงน้ำใจด้วยการขอซ่อมแซมรั้วเดิม โดยออกค่าใช้จ่ายให้ในครั้งนี้ เพราะเราไม่ได้ช่วยออกค่าสร้างรั้วให้ตั้งแต่แรกนั้นเอง

การสร้าง ต่อเติมบ้าน หรือ รั้ว ในบางครั้ง อาจสร้างผลกระทบแก่เพื่อนบ้าน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น การต่อเติมห้อง หรือผนังยื่นออกมาจนสุดรั้ว ก็อาจทำให้บ้านของเพื่อนบ้านฝั่งนั้นๆ รู้สึกปลอดโปร่งน้อยลง หรือน้ำฝนจากหลังคาอาจกระเด็นข้ามรั้วไป เป็นต้น จึงควรมีการบอกกล่าวกันก่อน

ต่อเติมรั้วบ้าน ต้องต่อเติมอย่างไร?

ถ้าเป็นรั้วบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เราจะมีสิทธิ์ ต่อเติมรั้ว ได้ไม่เกินกึ่งกลางของรั้วเดิมตามแนวเขตที่ดิน ยกเว้นแต่จะมีการยินยอมจากบ้านข้างเคียง เป็นลายลักษณ์อักษร ให้สามารถตั้งส่วนต่อเติมไว้กึ่งกลางของรั้วเดิมได้ โดยปกติก็ควรจะวางส่วนต่อเติม ไว้บนทับหลังคานของรั้วเดิม หรือยึดกับผนังของรั้วฝั่งที่ดินของเรา ไม่ล้ำเกินกึ่งกลางของรั้ว หรือจะตั้งเสาใหม่ หรือรั้วใหม่อีกชั้น อยู่ภายในเขตของที่ดินเราใหม่เลยก็ได้

อย่างไรก็ตามการทำรั้วบ้าน ที่ติดกับที่ดินข้างเคียง ควรมีการเอาแบบก่อสร้างไปพูดคุยกับบ้านข้างเคียงก่อน เพื่อลดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะรั้วของเรา อาจจะสร้างปัญหารั้วบ้านให้บ้านข้างเคียง และทำให้เราอาจโดนฟ้องได้ หรือโดนสั่งให้รื้อส่วนต่อเติมทิ้ง เช่น การที่ไปก่อสร้างรั้วทึบสูงๆ อาจทำให้เกิดการบดบังทัศนวิสัย บดบังทิศทางลม บดบังแดดที่อาจทำให้หญ้า หรือต้นไม้บ้านเขาตายได้

เพื่อนบ้านจะต่อเติมรั้ว ต้องดูอะไรบ้าง?

ถ้าบ้านข้างเคียงมีการต่อเติม รั้วบ้าน ควรรีบคุยกับบ้านข้างเคียงก่อน และขอดูแบบรั้วบ้านคร่าวๆ เพื่อดูรูปร่างหน้าตาของการต่อเติม และต้องตรวจสอบแบบรั้ว ว่าไม่มีส่วนที่ล้ำมายังเขตที่ดินของเรา ทั้งนี้ไม่ควรรอให้รั้วเสร็จแล้วค่อยบอก เพราะมักจะเกิดการทะเลาะกันจากการขอให้รื้อรั้วออก นอกจากนี้เราควรเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นหากมีการต่อเติมรั้ว ดังนี้

1. เราอาจจะได้ ความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องต่อเติมรั้วเอง

2. การต่อเติมรั้ว มีการวางโครงสร้างไว้บนรั้วเดิม โดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาก อาจจะทำให้รั้วเดิมทรุดได้ ดังนั้นการฝากโครงสร้างส่วนต่อเติมไว้กับรั้วบ้าน แน่นอนว่าน้ำหนักจะต้องถ่ายเทลงบนรั้ว ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดการทรุด หรือแตกร้าวได้ และอย่าลืมว่ารั้วนี้ เราเป็นเจ้าของร่วมกับบ้านข้างๆ คนละครึ่ง หากรั้วมีความเสียหาย ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ และออกค่าเสียหาย ย่อมจะต้องเป็นหลังที่ทำการต่อเติมนั่นเอง (แต่หากต่อเติมด้วยกันทั้งคู่ ก็ต้องรับผิดชอบของใครของมัน หรือรับผิดชอบร่วมกัน) ควรต้องมีการตกลงกับบ้านข้างเคียง เรื่องแบบก่อน อาจใช้วิธีทำเสาโครงสร้างรับน้ำหนัก ให้ถ่ายเทลงสู่ที่พื้นโดยตรง หรือหากจำเป็น ต้องฝากโครงสร้างบางส่วนไว้บนรั้วจริงๆ เช่น ผนังห้อง หรือรั้วโปร่ง ก็ควรเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา เช่น โครงเหล็ก หรือโครงไม้ต่างๆ เพื่อที่รั้วบ้าน จะได้ไม่ต้องรับภาระน้ำหนักที่เยอะเกินไป เป็นต้น

3. บ้านข้างเคียงต่อเติมอาคารเดิมมาชนกับรั้วบ้านเรา เช่น การต่อเติมครัวหลังบ้าน ตรงนี้ต้องดูที่กฎมายระยะร่นอาคาร โดยดูว่าส่วนต่อเติมนั้น หากมีหน้าต่าง หรือช่องแสงต้องร่นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตรจากแนวเขตที่ดิน ถ้าไม่มีช่องแสงเป็นเพียงผนังทึบสามารถร่นระยะห่างเหลือ 50 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม หากไม่มีช่องแสงเลยจะสามารถสร้างชิดเขต หรือรั้วได้แต่ต้องให้บ้านข้างเคียงเซ็นอนุญาตก่อน ทั้งนี้บล็อกแก้วก็จัดเป็นช่องแสงด้วยต้องร่นระยะห่าง 2 เมตร ซึ่งหากไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็สามารถร้องขอ ให้เทศบาลมาตรวจสอบ และสั่งให้รื้อได้ ทั้งนี้หากจะอนุญาตให้เพื่อนบ้าน ต่อเติมมาชนรั้วบ้านเรา เราต้องดูว่าเมื่อต่อเติมเสร็จแล้ว จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง เช่น น้ำฝนจากหลังคา จะหล่นมาที่บ้านเราหรือไม่ หรือส่วนต่อเติม จะทำให้รั้วเดิมเกิดการชำรุดเสียหายหรือไม่ เป็นต้น

4. หากรั้วต่อเติม ของเพื่อนบ้านฝั่งเราไม่สวย และเราก็ไม่อยากทำรั้วใหม่เองด้วย เราจะฉาบปูน หรือทาสีรั้วเพื่อนบ้าน ที่หันมาฝั่งบ้านเรา ให้เรียบร้อยสวยงามมากขึ้นเป็นการกระทำที่ “ไม่ถูกต้อง” เพราะรั้วที่ต่อเติมนั้นๆ ถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของเพื่อนบ้าน และยังอยู่ในอาณาเขตที่ดิน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา เราจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะดัดแปลง แก้ไข หรือทำลายได้ เราควรให้เค้า ช่วยบอกช่างให้เก็บงาน ฝั่งเราให้เรียบร้อย หรือขอให้เค้าตกแต่งปรับปรุง ฝั่งของเราเพิ่มเติม โดยไม่กระทบต่อรั้วของอีกฝ่าย หรือจะออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยตัวเอง หากเพื่อนบ้านไม่ตกลงด้วย เราก็ต้องทำรั้วเสริมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ในเขตของตัวเอง จึงไม่แปลกที่บางครั้งเราจะเห็นรั้วบ้านที่เป็น 2 ชั้น แยกของใครของมันแบบนี้อยู่บ่อยๆ

อย่าลืม!! หาใครสักคนที่น่าเชื่อถือ เช่น นิติบุคคล ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น มาช่วยเป็นพยาน หรือคนกลางในข้อตกลงครั้งนี้ ซึ่งบางทีก็อาจมีการออกหนังสือยินยอม เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดข้อพิพาทในภายหลัง

สำหรับใครที่ต้องการสร้างรั้วโดยใช้ รั้วคอนกรีตสำเร็จรูป สามารถเข้าไปดูข้อมูล และสอบถามรายละเอียดได้ที่นี่นะคะ https://fenzerpro.com/contact/