องค์ประกอบของบ้าน นอกเหนือจากโครงสร้างบ้าน โรงจอดรถ และสวนรอบบ้านแล้ว รั้วบ้าน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะมันเป็นตัวช่วย จัดสรรพื้นที่ใช้งาน ระแวกบ้านได้อย่างเป็นสัดส่วน ช่วยบดบังสายตาคนภายนอก เพิ่มความเป็นส่วนตัว ให้กับผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้นอีกด้วย โดยถ้าหาก รั้วบ้าน สวย ก็จะทำให้บ้านดูสวยไปด้วย และยังเป็นส่วนที่ช่วยเสริมเอกลักษณ์ ให้กับตัวบ้านอีกด้วย เพราะรั้วเป็นจุดแรกที่ผู้ผ่านไปผ่านมาได้พบเห็น จึงเป็นส่วนหนึ่งของหน้าตา บ่งบอกถึงรสนิยม และความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน
การเลือกวัสดุ รั้วบ้าน แตกต่างกันตามความชอบ ลักษณะการใช้งาน และงบประมาณของแต่ละบ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ทำรั้วบ้านให้เลือกมากมาย ดังนี้
– รั้วโลหะ
เป็นรั้วที่ได้รับความนิยม เพราะมีความแข็งแรงทนทาน และสามารถเลือกใช้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น รั้วสแตนเลสที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อสนิม และง่ายในการทำความสะอาด แต่ไม่ค่อยสวยงามเมื่อเทียบกับรั้วอัลลอยและเหล็ก ซึ่งสามารถปรับแต่งรายละเอียดลวดลายให้สวยงาม แต่มีราคาสูงกว่ารั้วสแตนเลส อย่างไรก็ตาม รั้วโลหะอาจจะให้ความรู้สึก เป็นส่วนตัวน้อยกว่าวัสดุอื่น เนื่องจากเป็นวัสดุโปร่งบาง ทำให้ภายนอกสามารถมองเข้ามาภายในบ้านได้
– รั้วไม้
การใช้รั้วไม้ธรรมชาติ ที่สวยงามต้องให้ความสำคัญ กับการดูแลรักษา เพราะไม้ธรรมชาติ ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศ และปลวก จึงทำให้ไม้เทียม ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะมีความใกล้เคียงสวยงามเหมือนไม้จริง แต่แข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศและปลวก โดยการเลือกใช้รั้วไม้ ควรพิจารณาถึงโครงสร้าง ความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักได้ในระยะยาว
สำหรับการเลือกใช้รั้วไม้เทียม แนะนำให้ใช้ไม้เทียมที่มีความหนาประมาณ 12 มิลลิเมตรขึ้นไป เพื่อให้รั้วมีความทนทานต่อการใช้งาน และควรเลือกใช้สีอ่อนที่สว่าง รวมถึงไม้ขนาดเล็กในการสร้างรั้วบ้าน เพื่อให้ความรู้สึกโปร่งสบาย มากกว่าการใช้ไม้สีเข้มและไม้ขนาดใหญ่ที่ทึบกว่า
– รั้วปูน
หลายบ้านเลือกใช้รั้วปูนเพราะความมั่นคงแข็งแรง และให้ความเป็นส่วนตัว ทั้งยังมีราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรั้วอื่นๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นรั้วอิฐฉาบปูนและรั้วอิฐบล็อก โดยสามารถเพิ่มลูกเล่น ด้วยการทาสี หรือตกแต่ง ด้วยการปูกระเบื้องเพิ่มความสวยงาม ให้รั้วได้
– รั้วคอนกรีตสำเร็จรูป
รั้วที่สามารถติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว จากการขึ้นรูป ที่สามารถใช้ประกอบ เป็นรั้วแบบต่างๆ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน และยังมี หลากหลายสีสันให้เลือกใช้ เช่น ระบบ รั้วสำเร็จรูป แลนด์สเคป โดยมีทั้งแบบโมเดิร์น คลาสสิก ธรรมชาติ ซึ่งสามารถผสมผสาน กับการใช้รั้วโปร่งได้
– รั้วต้นไม้
หากต้องการเพิ่มความเป็นธรรมชาติ และสร้างความร่มรื่นให้กับบ้าน เราสามารถเลือกใช้รั้วต้นไม้ ที่มีความสวยงาม ป้องกันแสงแดด และให้ความเป็นส่วนตัวได้ เพียงแต่ต้องคอยเก็บกวาดทำความสะอาด และตัดแต่งทรงต้นไม้เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงต้นไม้ผลัดใบ ที่อาจจะมีใบไม้ร่วงหล่นจำนวนมาก ซึ่งเราควรระมัดระวังไมให้ต้นไม้ของเรา แตกกิ่งก้านสาขาหรือใบไม้ร่วงหล่นไปยังพื้นที่เพื่อนบ้าน เพราะอาจจะเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงได้
ส่วนต้นไม้ที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นรั้วบ้านควรเป็นต้นไม้ที่เป็นพุ่มหนาแน่น และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ปลูกง่าย ทนแดดทนฝน โดยสามารถเลือกต้นไม้ที่ออกดอกเพิ่มความสวยงามได้ เช่น ต้นเข็ม ต้นโมก และมอร์นิ่งกลอรี่ เป็นต้น
การเลือกใช้วัสดุสร้างรั้วบ้าน ไม่จำกัดเฉพาะแบบใดแบบหนึ่ง โดยเราสามารถเลือกผสมผสาน รั้วบ้านรูปแบบต่างๆได้ตามความต้องการ และความชอบส่วนตัว เช่น รั้วไม้และคอนกรีต หรือรั้วโลหะและไม้
หลังจากเลือกแบบรั้วบ้านที่ถูกใจได้แล้ว ลองมาอ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหากับรั้วบ้านที่จะทำให้งบของเราบานปลายกันค่ะ
คำแนะนำ ทำไมรั้วบ้านถึงล้ม และเอียง
โดยทั่วไปแล้วรูปทรงของรั้วบ้านมีลักษณะไม่ค่อยสมดุล จะเห็นได้ว่าขนาดความหนาของรั้วเมื่อเทียบกับความยาวมีความแตกต่างกันมาก ถ้ารั้วมีความสูงมาก โอกาสที่จะล้มเอียงก็ยิ่งมีมากตามไปด้วย และด้วยรูปทรงที่ไม่ค่อยสมดุลเช่นนี้ หากกำแพงรั้วมีความยาวมากและเป็นเส้นตรงแนวเดียวตลอดจะเกิดการล้มเอียงได้ง่าย
เปรียบเสมือนกับนำกระดาษหรือแบงก์ร้อย แบงก์พันใหม่ๆ มาจับตั้งจะเห็นว่าทำได้ยาก ต้องจับงอโค้งหรือพับให้มีมุมก่อน เมื่อตั้งใหม่จึงจะตั้งได้ ทำนองเดียวกันนี้กำแพงรั้วที่เป็นแนวตรงตลอดแนวและมีความยาวมากควรทำตัวยึดรั้งเป็นช่วงๆ เพื่อดึงหรือค้ำยันไม่ให้ล้มเอียง
เนื่องจากรั้วมีน้ำหนักไม่มากเมื่อเทียบกับตัวบ้าน โดยทั่วไปจึงมักจะเลือกใช้เสาเข็มสั้นรองรับฐานรากของรั้ว ความยาวเสาเข็มที่ใช้อยู่ในช่วงประมาณ 26 เมตร สำหรับพื้นที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง
เสาเข็มที่มีความยาวเท่านี้ยังอยู่ในชั้นดินเหนียวอ่อน ดินเหนียวอ่อนยุบตัวได้ง่ายกว่าดินเหนียวแข็งที่อยู่ล่างลึกลงไป และการยุบตัวจะเกิดจากน้ำหนักบรรทุกที่กดทับและเกิดจากน้ำในมวลดินที่ไหลหนีออกจนเกิดโพรงภายใน เมื่อดินเหนียวอ่อนยุบตัวเสาเข็มก็จะถูกดึงตามลงไปด้วย จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับรั้วที่วางบนเสาเข็มสั้นจะเกิดการทรุดตัว
เมื่อตัดสินใจจะใช้เสาเข็มสั้นต้องทำใจไว้แต่แรกว่าต้องเกิดการทรุดตัว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการทรุดตัวไม่มาก ไม่แตกร้าวและไม่ล้มเอียง แนวทางง่ายๆสำหรับเรื่องนี้คือ
– น้ำหนักของรั้วไม่ควรมากเกินไป เช่น ไม่ควรทำรั้วสูงเกินกว่า 2 เมตร วัสดุทำรั้วควรมีน้ำหนักเบาหรือเลือกทำรั้วแบบโปร่งแทน หากต้องการทำรั้วแบบทึบสูงและมีน้ำหนักมาก ควรเปลี่ยนไปใช้เสาเข็มยาวที่มีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอ และควรปรึกษาวิศวกรเกี่ยวกับขนาดและความยาวเสาเข็มที่จะใช้
– ไม่ควรเกาะเกี่ยวส่วนของรั้วเข้ากับตัวบ้าน แม้แต่จะเป็นผนังหรือส่วนยื่นของผนังบ้านก็ไม่ควร เพราะการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างฐานรากของบ้านกับฐานรากของรั้วจะทำให้เกิดการแตกร้าว รอยแตกร้าวจะเกิดได้ทั้งที่ผนังของบ้านและรั้ว
– กรณีต่อเติมบ้านไม่ว่าจะเป็นด้านข้างหรือด้านหลังไม่ควรใช้รั้วเป็นตัวรองรับส่วนที่ต่อเติม เพราะแรงดึงรั้งที่เกิดจากการทรุดตัวจะเป็นสาเหตุให้รั้วแตกร้าวและล้มเอียงได
– รั้วที่มีแนวตรงและยาวมากควรทำตัวยึดรั้งเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการล้มเอียง ระยะห่างระหว่างตัวยึดรั้งไม่ควรเกินช่วงละ 3.00 เมตร เว้นแต่จะได้มีการคำนวณจากวิศวกรเป็นกรณีๆ ไป ตัวยึดรั้งประกอบด้วยเสาเข็มและคานหรือเหล็กใช้สำหรับดึงและยึดไม่ให้กำแพงล้มไปทางด้านนอก หรือด้านในที่รั้วนั้นกั้นแนวเขตพื้นที่อยู่
– รั้วที่อยู่ริมบ่อ คลอง หรือขอบของพื้นดินที่ต่างระดับกันมากเกินกว่า 1 เมตร ควรทำตัวยึดรั้งเป็นอย่างยิ่ง และตำแหน่งเสาเข็มที่ใช้เป็นตัวยึดรั้งควรอยู่ห่างจากแนวเสาเข็มรั้วไม่น้อยกว่าระดับความลึกของท้องคลองหรือความต่างระดับของพื้นดิน ทั้งนี้เพื่อให้ตัวยึดรั้งอยู่พ้นแนวไหลเคลื่อนตัวของดิน ทำให้การดึงรั้งมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ท่านที่เคยมีประสบการณ์เรื่องรั้วบ้านล้มมาแล้วคงทราบดี ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วการแก้ไขรั้วให้กลับตั้งตรงใหม่เป็นเรื่องยาก และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก บางครั้งอาจแพงกว่ารื้อทิ้งสร้างใหม่ ปัญหาอีกอย่างคือถ้ารื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดิมอีก ลองใช้แนวทางที่แนะนำข้างต้นดูครับ…จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดเกี่ยวกับรั้วได้
เขียนโดย…ธเนศ วีระศิริ อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
อีกหนึ่งปัญหาของบ้านที่สร้างริมคลอง หรือบ่อน้ำ คือดินทรุดจนกำแพงล้ม
บ้านที่อยู่ติดกับลำราง คลอง และบ่อน้ำ มีระดับพื้นดินด้านนอกบ้าน ต่างจากระดับดินด้านในบ้าน ด้านที่ระดับพื้นดินสูงกว่า จะมีแรงดันให้โครงสร้างรั้วล้มเอียงออกไปทางด้านที่ต่ำกว่า ซึ่งการนำเหล็กฉากไปยึดกำแพงรั้ว เข้ากับเสาบ้านนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาการทรุดเอียงของกำแพงได้เนื่องจากดินยังคงมีแรงดันตามธรรมชาติ และอาจดึงรั้งโครงสร้างบ้านทำให้เสาปูนแตกร้าว ลดความแข็งแรงของตัวบ้านลง ดังนั้นควรทำค้ำยันรั้วที่มีอาการล้มเอียงเพียงเล็กน้อยเอาไว้ก่อนจากด้านนอกบ้าน จากนั้นถอดเหล็กฉากที่ยึดกับเสาบ้านออก แล้วจึงทำสเตย์หรือคานดึงด้านในบ้านยึดไม่ให้รั้วล้มเอียงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ก็พอที่จะบรรเทาอาการได้
แต่หากรั้วล้มเอียงมากอีกทั้งยังแตกร้าว จะต้องทำการตัดโครงสร้างรั้วแนวที่ล้มเอียงออกจากรั้วแนวอื่น จากนั้น ทำการรื้อทิ้ง การก่อสร้างแนวรั้วขึ้นมาใหม่ ควรทำให้ถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม โดยให้วิศวกรเป็นผู้พิจารณารูปแบบของโครงสร้างที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เนื่องจากดินบริเวณริมขอบบ่อน้ำเป็นดินอ่อนไม่สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างรั้วได้ จึงต้องมีเสาเข็มช่วยรับน้ำหนักเพิ่มเติม ด้วยการตอกเสาเข็มรูปตัวไอ ตามแนวขอบบ่อ แล้วสอดแผ่นคอนกรีตไว้ระหว่างกลางเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน
นอกจากนี้ควรเลือกใช้วัสดุก่อสร้างรั้วที่มีน้ำหนักเบา เพื่อลดอัตราการทรุดตัวของโครงสร้างเช่นรั้วระแนงไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ รั้วเหล็กดัด รั้วคอนกรีตสำเร็จรูป แทนรั้วคอนกรีตที่มีน้ำหนักมาก
เมื่อได้รั้วบ้านสวยโดนใจแล้ว หลังจากสร้างเสร็จ ควรเช็คลิสต์ ตรวจรั้วบ้าน ก่อนรับมอบงานจากช่างกันนะคะ
หมดกังวลทุกปัญหาโครงสร้าง แนะนำการใช้วัสดุที่เหมาะสม มีปัญหาเรื่องบ้านต้องการปรึกษาวิศวกร พร้อมให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจาก FenzerPro
เมื่อได้รั้วบ้านสวยโดนใจแล้ว หลังจากสร้างเสร็จ ควรเช็คลิสต์ ตรวจรั้วบ้าน ก่อนรับมอบงานจากช่างกันนะคะหมดกังวลทุกปัญหาโครงสร้าง แนะนำการใช้วัสดุที่เหมาะสม พร้อมให้คำปรึกษาโดย ผู้เชี่ยวชาญ จาก FenzerPro
Fenzerpro Team