fbpx

กฎหมายสร้างรั้วบ้าน ควบคุมอาคาร

หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องรั้ว ที่เจ้าของบ้าน ควรทราบ ว่ามีอย่างไรบ้าง เพื่อความถูกต้อง เรามีคำแนะนำมาฝากกันค่ะ

กฎหมายสร้างรั้วบ้าน ควบคุมอาคาร
www.fenzerpro.com

ในปัจจุบัน บ้านเดี่ยวเกือบทุกหลัง จะมีการสร้างรั้วรอบที่ดิน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย และแสดงขอบเขตกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเจ้าของบ้าน บ้างทำเป็นรั้วโปร่ง บ้างทำเป็นรั้วทึบ หรือกำแพงกั้นระหว่างที่ดินของตนเอง กับที่สาธารณะ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนสาธารณะ) หรือทำรั้วกั้นระหว่างที่ของตนเอง กับเพื่อนบ้าน โดยรั้วด้านติดกับถนนสาธารณะ ก็จะมีประตูสำหรับรถ หรืออาจมีประตูขนาดเล็ก สำหรับคนเพื่อผ่านเข้าออก เรามาดูว่า กฎหมายสร้างรั้วบ้าน ควบคุมอาคาร มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องรั้ว ที่เจ้าของบ้าน ควรทราบไว้อย่างไรบ้างกันค่ะ

1. ทำรั้วบ้านใหม่ เจ้าของบ้านต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่ ?

หลายท่านอาจคิดกันว่า “รั้วบ้าน” ไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะ “รั้ว” ไม่ใช่ “อาคาร” คนเข้าไปอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายสร้างรั้วบ้าน ควบคุมอาคาร ให้ความหมายของ “อาคาร” มากไปกว่าเพียงสิ่งก่อสร้าง ที่คนเข้าไปอยู่หรือใช้สอยได้เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องดูว่า “รั้ว” ที่จะสร้างนั้นเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่ หากเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ก็จะต้องมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง และสร้างให้เป็นตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้ “อาคาร” หมายถึง “…ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด…” โดย กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กำหนดให้สิ่งก่อสร้างใดก็ตามที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร เข้าข่ายเป็น “อาคาร” ด้วย

เมื่อดูจากเนื้อความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ก็จะเห็นว่าหากรั้วบ้านนั้นสร้างติดต่อ หรือใกล้กับที่สาธารณะ ก็จะถือเป็น “อาคาร” หรือหากไม่ได้สร้างติดต่อ หรือใกล้กับที่สาธารณะแต่รั้วนั้นมีความสูงถึง 10 เมตร ก็จะถือเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายควบคุมอาคารเช่นกัน (สำหรับคำว่า “ใกล้เคียง” ตามที่กฎหมายเขียนไว้ เบื้องต้นในทางปฏิบัติ หมายถึงแนวรั้วที่กั้นระหว่าง ที่ดินเอกชนกับที่สาธารณะ) ดังนั้น

รั้วกั้นระหว่างเขตที่ดินเอกชน กับที่สาธารณะ จะต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะถือเป็น “อาคาร” ตามกฎหมาย

ส่วนรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนที่ติดกัน และรั้วนั้นมีความสูงไม่ถึง 10 เมตร ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะไม่ถือเป็น “อาคาร” แต่หากรั้วนั้นมีความสูงถึง 10 เมตร ก็จะต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง เพราะเข้าข่ายเป็น “อาคาร”

รั้วบ้านที่จะก่อสร้างหากเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ก็จะต้องมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง และต้องได้รับอนุญาตก่อน จึงจะลงมือก่อสร้างได้นะคะ

Fenzerproteam

2. ลักษณะรั้ว และรูปแบบของรั้ว

กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบว่ารั้วต้อง ทึบ โปร่ง หรือต้องมีรูปแบบเช่นใด แต่กำหนดให้รั้วต้องมีการ “ปาดมุม” ตรงที่ดินที่อยู่มุมถนนสาธารณะ และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5 กำหนดว่า “รั้วหรือกำแพงกั้นเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะ ที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้ว หรือกำแพงกั้นเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับเนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่า ๆ กัน”

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีกำหนดเฉพาะที่ดิน อยู่มุมถนนที่กว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 8 เมตร ที่รั้วต้องปาดมุม และต้องไม่มีส่วนใดของรั้ว กำแพง หรืออาคารยื่นล้ำ เข้าไปในที่ดินส่วนที่ปาดมุม วัตถุประสงค์ก็น่าจะเพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดความเสียหาย (ของทั้งรถ และทั้งรั้ว) ในการเลี้ยวรถบนถนน ที่มีความกว้างไม่มากนัก

3. แนวรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชน

รั้วที่กั้นระหว่างที่ดินเอกชนกับที่สาธารณะ แน่นอนว่า ต้องไม่มีส่วนใดของรั้วล้ำออกไปในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะบนดิน เหนือดิน หรือใต้พื้นดิน (เช่น ฐานรากรั้วก็ล้ำออกไปไม่ได้) แต่สำหรับแนวรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนด้วยกัน กฎหมายควบคุมอาคาร ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอยู่แนวใด ดังนั้น การที่ท่านเจ้าของบ้านจะทำรั้วระหว่างที่ดินของท่าน กับที่ดินเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ท่านจะนำหลักเกณฑ์เดียวกับ การสร้างรั้วติดกับที่สาธารณะไปใช้ก็ได้ คือ รั้วทั้งหมดอยู่ในเขตที่ดินของผู้ที่จะสร้างรั้ว หรือหากเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกัน สามารถตกลงกันได้ ก็อาจก่อสร้างให้แนวรั้วกั้นระหว่างที่ดิน โดยให้แนวเขตที่ดินอยู่กึ่งกลางตลอดแนวรั้วก็ได้ และกรณีนี้อาจตกลงกันไปถึง เรื่องการออกค่าใช้จ่ายการทำรั้วได้เช่นกัน

4. แนวรั้วและความสูงของรั้วด้านติดถนนสาธารณะ

โดยทั่วไป กฎหมายอาคารจะกำหนดให้ แนวของอาคาร ด้านที่ติด หรือใกล้กับทางสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะ หรือแหล่งน้ำสาธารณะ ต้องมีระยะถอยร่น ไม่สามารถสร้างให้ชิดแนวเขตทางสาธารณะได้ หลายท่านอาจสงสัยต่อว่า กรณีที่รั้วบ้านเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ทำไมจึงสามารถก่อสร้างตรงชิดแนวเขตที่ดิน และติดกับเขตถนนสาธารณะได้โดยไม่ต้องถอยร่น…ขอให้ทราบว่า รั้วบ้านที่สร้างระหว่างที่ดินเอกชนกับถนนสาธารณะ กฎหมายควบคุมอาคารผ่อนผันให้ รั้วหรือกำแพงที่สร้างขึ้นติดต่อ หรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้ว ให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้า หรือถนนสาธารณะ หากความสูงไม่เป็นไปตามที่ผ่อนผันไว้ รั้วนั้นก็จะต้องมีระยะถอยร่น (จากถนนสาธารณะ) สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หากถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ความสูงรั้วด้านที่ยอมให้สร้าง ชิดเขตถนนสาธารณะจะถูกจำกัดให้สูงได้ไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น

สามารถอ่านดูรายละเอียดได้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2535) ข้อ 42, ข้อ 47 และใน ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50

ติดต่อขอคำปรึกษาจากช่างผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี รับประกันคุณภาพของผลงาน มีความละเอียดในงาน ทำให้รั้วออกมาสวยงาม
สามารถติดต่อ ขอเข้าชมงาน รั้วหรู เรียบสวย ทุกมุมมอง ความแข็งแรง ทนทาน เหมาะสำหรับงานทั้ง รื้อบ้านเก่าแล้วก่อสร้างใหม่บนที่ดินเดิม และบ้านใหม่ที่ต้องการสร้างรั้ว #รั้วสำเร็จรูป เราได้เพิ่มขนาดฐานรากที่ใหญ่โต เพื่อให้รั้วตั้งตรงอยู่ได้นานเท่านาน
สนใจสร้างรั้วบ้านกับเราเชิญชมหน้างานก่อน โทร.089 666 4525 (line)
#รั้วเฟนเซอร์